เจดีย์ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง ก่อด้วยอิฐถือปูน เจดีย์องค์นี้ตามตำนานได้กล่าวถึงการสร้างหลายครั้งหลายคราว ลักษณะขององค์เจดีย์ประกอบด้วย ลักษณะสำคัญ คือ เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบลานนาไทยประกอบด้วยฐานบัวลูกแก้วสี่เหลี่ยมย่อเก็จ ตั้งบนฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีฐานเขียงกลมซ้อนกัน 3 ชั้น จากใหญ่ไปหาเล็ก ตั้งบนฐานบัวลูกแก้ว ถัดขึ้นไปเป็นมาลัยเถา 3 วง จากนั้นก็ถึงองค์ระฆังเล็กปลายผายออกคาดกลาง ด้วยลายประจำยามอกตรงกลาง บัลลังก์กลม ปล้องไฉนและส่วนยอดเป็นฉัตร องค์เจดีย์หุ้มด้วยแผ่นทองจังโกทั้งหมดตั้งแต่ฐานถึงยอด การหุ้มพระเจดีย์ด้วยแผ่นทองและการยกฉัตรไว้ตามมุมพระเจดีย์ถือว่าเป็นคติจากพุกามซึ่งแพร่อิทธิพลมา(ภาสกร โทณะวณิก,2529)
พระเจดีย์ พระบรมธาตุลำปางหลวงเป็นพระธาตุเจดีย์ประธานในเขตพุทธาวาส รูประฆังทรงกลม ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จล้อมรอบด้วยรั้ว 2 ชั้น ภายในองค์เจดีย์ตามตำนานได้บรรจุเส้นพระเกศาพระอัฐธาตุ พระนลาตข้างขวาและพระอัฐธาตุพระสอ (พรรณนิภา ปิณฑวณิช, 2546)
การศึกษาเอกสารต่างๆ สอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏโดย ศึกษาถึงรูปทรง และรูปแบบของเจดีย์วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบลานนาไทยซึ่ง ลักษณะที่สำคัญของเจดีย์ทรงกลมแบบลานนาไทย คือ เจดีย์ที่มีส่วนสำคัญอันเป็นจุดเด่น มีลักษณะเป็นทรงกลม คือส่วนองค์ระฆังสำคัญที่สุด เจดีย์ทรงกลมของลานนาจะมีส่วนประกอบที่สำคัญคือส่วนฐาน ทำเป็นบัวลูกแก้วย่อเก็จ ถัดไปเป็นส่วนมาลัยเถา ซึ่งมีแผนผังเป็นวงกลม ถัดมาจากมาลัยเถาเป็นที่ตั้งขององค์ระฆังกลม องค์ระฆังนี้ จะมีสัดส่วนที่สัมพันธ์กันกับส่วนประกอบที่เป็นมาลัยเถาข้างล่าง กล่าวคือ ถ้าเน้นส่วนมาลัยเถาในปริมาณที่มาก องค์ระฆังจะเล็ก แต่ถ้าไม่เน้นมาลัยเถาองค์ระฆังจะเด่น ถัดจากองค์ระฆังขึ้นไปจะเป็นส่วนยอด ซึ่งประกอบด้วย บัลลังก์ ปล้องไฉน ปลียอด และฉัตร (ภาสกร โทณวณิก,2529)