มณฑป

มณฑปปราสาท ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง อยู่ภายในวิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง มณฑปปราสาทนี้มีลักษณะสำคัญ คือแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม ย่อเก็จด้านละ 4 มุม และแต่ละด้าน ทำเป็นซุ้มหรือมุขยื่นออกมา ฐานเป็นบัวลูกแก้วอกไก่ และฐานเขียงเรียบ รองรับส่วนเรือนธาตุสี่เหลี่ยมย่อเก็จที่มุมทั้งสี่ แต่ละด้านของเรือนธาตุ ทำเป็นซุ้มประกอบเป็นซุ้มจระนำ และมีด้านหนึ่ง คือด้านที่หันไปทางตะวันออก เป็นซุ้มแบบเจาะลึกเข้าไปในเรือนธาตุ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าล้านทอง การประดับตกแต่งลวดลายส่วนซุ้ม มีลายประดับที่ส่วนโค้ง ตอนบนของซุ้ม ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน คือซุ้มโค้งด้านหน้าและส่วนหลัง ซึ่งซ้อนกันอยู่ในแต่ละด้าน ส่วนโค้งตอนบนของซุ้มด้านข้าง ส่วนหน้านั้นมุมซุ้ม ทำเป็นรูปหงส์ ยืนหันหน้าเข้าหากันข้างละตัว ส่วนหางของหงส์ทำเป็นช่อกระหนก แบบม้วนอยู่ในกรอบ หรือโครงสร้าง ของรูปตัวเหงา ส่วนบนของซุ้มทำเป็นหงส์ยืนเรียงแถวตลอดแนวความโค้ง ซุ้มส่วนหลังคาทำเป็นมกรคายนาค เป็นนาค 5 เศียร หางของนาคพันเกี่ยวกันเป็นมุมแหลม อยู่ที่ส่วนยอดกึ่งกลางซุ้ม ทอดลำตัวลงมาตามแนวความโค้ง ใต้ส่วนโค้งของซุ้มทำเป็นหน้าบันแบบครึ่งวงกลม ประดับลายพันธ์พฤกษา

มณฑป

ซุ้มด้านหน้าที่เจาะลึกเข้าไปในเรือนธาตุ การประดับตกแต่งส่วนโค้งตอนบนของซุ้ม แตกต่างจากด้านข้างเล็กน้อย ตรงส่วนโค้งตอนบนของซุ้มส่วนหน้า คือที่มุมของซุ้มแทนที่จะเป็นรูปหงส์ และตัวเหงาก็เป็นรูปเศียรนาค และทอดลำตัวขึ้นไป ตามความโค้งของซุ้มหางนาคเกี่ยวกันเป็นมุมแหลมที่ส่วนยอดกึ่งกลางซุ้ม เรือนธาตุบริเวณมุม ทำเป็นย่อเก็จ ประกอบด้วยลวดลายพันธ์พฤกษา ประดับอยู่ภายในกรอบรูปกลีบบัว ส่วนบนเรียกว่าบัวคอเสื้อ ส่วนล่างของเรือนธาตุ เรียกว่าบัวเชิงล่าง และประจำยามอกตรงกลาง เหนือเรือนธาตุเป็นส่วนหลังคา เป็นส่วนโค้งแบบบัวถลา ซ้อนขั้นลดหลั่นกันขึ้นไป เจ็ดชั้นในรูปทรงมณฑป ที่ทุกมุมประดับด้วยนาคทุกย่อมุม ในส่วนตรงกลางของแต่ละด้านจะทำเป็นซุ้มบัญชรเล็กๆ ยอดบัวตูมประดับอยู่ในแต่ละขั้นลดหลั่นกันไป ส่วนยอดเป็นรูปดอกบัวตูม(ภาสกร  โทณะวณิก,2529)