วิหาร

1. วิหารพระพุทธ

วิหารพระพุทธ  วิหารพระพุทธตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของพระธาตุเจดีย์ เป็นวิหารปิดทึบ มีการก่อผนังล้อม เปิดโล่งส่วนมุขหน้า ปิดล้อมด้วยกำแพงเตี้ยด้านทิศตะวันออกเป็นประตูทางเข้า ฐานเตี้ย หลังคามีการลดชั้นหน้า 1 ชั้น ด้านหลังชั้น ชั้นละ 2 ตับ (พรรณนิภา  ปิณฑวณิช, 2546 )          

วิหารพระพุทธ

วิหารพระพุทธ อยู่ทางด้านใต้ขององค์เจดีย์พระธาตุลำปางหลวง สร้างครั้งใดไม่ปรากฏ แต่คงมีการซ่อมแซมบูรณะเป็นระยะเสมอมา ซึ่งคงไม่เปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมมากนัก หลังคาด้านหน้าและด้านข้างลดสองชั้น ผนังด้านข้างตอนบนเป็นไม้ตอนล่างโบกปูนทึบ จากหลักฐานจารึกอักษรพื้นเมืองที่ปรากฏที่เสาภายในวิหารพระพุทธ กล่าวไว้ว่ามีการซ่อมวิหารนี้ ใน จศ. 1164(พ.ศ.2345)(ภาสกร  โทณะวณิก, 2529:31)


2. วิหารน้ำแต้ม

วิหารน้ำแต้ม เป็นอาคารไม้อยู่ในเขตพุทธาวาสของวัดพระธาตุลำปางหลวง ตัววิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลักษณะที่สำคัญคือ เป็นวิหารโถงและมีคอสองที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังกว้าง 8 เมตร ยาว 20 เมตร สูง 7 เมตร หลังคาจั่วลดชั้น มีตุ๊กตาดินเผา ประดับอยู่ตามช่วงต่อ ระหว่างจันทัน และเชิงกลอนสันหลังคาเป็นรูปสัตว์ต่างๆ หน้าบันแบบฝาปะกน โครงสร้างภายในไม่มีฝ้าเพดาน สันหลังคาประดับบราลี มีเสาไม้เรียงคู่ภายในวิหาร 8 ต้น วิหารน้ำแต้มสร้างขึ้นครั้งใด ไม่ปรากฏ แต่จากลักษณะรูปทรงที่ปรากฏเป็นอาคารไม้ที่เก่าที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ(ภาสกร  โทณะวณิก,2529)          

วิหารน้ำแต้ม  วิหารน้ำแต้มเป็นวิหารโถง ก่อผนังปิดทึบ บริเวณห้องสุดท้าย 3 ด้าน ฐานเตี้ย หลังคาคลุมต่ำ สันหลังคาเป็นเส้นตรง มีการลดหลั่นของหลังคา ด้านหน้า 2 ชั้น ด้านหลัง 1 ชั้น ชั้นละ 2 ตับ(พรรณนิภา  ปิณฑวณิช, 2546 )

วิหารน้ำแต้ม

3. วิหารหลวง

วิหารหลวงเป็นวิหารโถงขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของพระธาตุเจดีย์มีฝาย้อยปิดลงมา บังระนาบด้านซ้ายและขวา การลดชั้นของหลังคา ด้านหน้า 2 ชั้น ชั้นหลัง 1 ชั้น ชั้นละ 3 ตับ มีฐานเตี้ยเมื่อเทียบกับสัดส่วนของอาคาร(พรรณนิภา  ปิณฑวณิช, 2546 )          

วิหารหลวง

วิหารหลวง อยู่ทางทิศตะวันออกขององค์เจดีย์ ลักษณะเป็นวิหารโถง ตัววิหารจะเรียงชั้นซ้อนของชั้นหลังคา จากส่วนสูงที่สุด ลงมาหาต่ำสุดตามลำดับ ภายในอาคาร การก่อสร้างเป็นชนิดมีเสาเรียง ภายในเป็นวงกลม เสาเรียงภายในนี้ เป็นลักษณะของอาคารวิหาร ส่วนใหญ่ทางภาคเหนือ เพราะต้องการความกว้าง โดยเสาที่เรียงภายในนี้ จะใช้รับขื่อประธานและขื่อคัด บนแผงคอสองมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในวิหารมีซุ้มปราสาทประดิษฐาน พระเจ้าล้านทอง เป็นประธานของวิหาร วิหารหลวงนี้ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใด แต่จากศิลาจารึกเจ้าหมื่นคำเพชร จศ.838(พ.ศ.2019) ได้กล่าวถึงการสร้างวิหาร และในจารึกเจ้าหาญสีทัตถ จศ.858(พ.ศ.2039) ก็ได้กล่าวถึงการสร้างวิหารในวัดพระธาตุลำปางหลวงเช่นกัน อาจเป็นไปได้ว่าวิหารหลวง อาจสร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แต่ที่ปรากฏได้ถูกบูรณปฏิสังขรณ์ ในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ก็คงรักษารูปแบบและคติโบราณไว้(ภาสกร  โทณะวณิก, 2529)


4. วิหารละโว้

วิหารละโว้หรือวิหารพระเจ้าศิลาอยู่ทางทิศตะวันตกของพระธาตุเจดีย์เป็นวิหารโถง มีผนังปิดทึบ 2 ห้องสุดท้าย มีฝาย้อยปิดทางด้านซ้ายและขวา มีฐานเตี้ยตามรูปแบบดั้งเดิม ตัวอาคารใช้วัสดุใหม่ หลังคาและลวดลายแบบภาคกลาง(พรรณนิภา  ปิณฑวณิช, 2546 )      


5. วิหารต้นแก้ว

วิหารต้นแก้วอยู่บริเวณทางด้านทิศเหนือของวิหารหลวง และด้านหน้าทางทิศตะวันออกของวิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารโถงปิดทึบบริเวณห้องสุดท้าย 3 ด้าน ฐานเตี้ย มีการลดชั้นของหลังคา ด้านหน้า 2 ชั้น ด้านหลัง 1 ชั้น ชั้นละ 2 ตับ รูปทรงอาคารใกล้เคียงกับวิหารน้ำแต้ม หลังจากการบูรณะ การประดับของหลังคาเป็นแบบอุโบสถภาคกลาง(พรรณนิภา  ปิณฑวณิช, 2546 )         

วิหารต้นแก้ว

6. วิหารพระแก้ว

วิหารพระแก้วมรกต อยู่ภายนอกเขตพุทธาวาสเป็นอาคารไม้ ภายในประดิษฐานพระแก้วมรกต อยู่ใกล้กับหอไตรหลังคา มีชั้นลดหลั่นด้านหน้า 2 ชั้น