ตำนานเจ้าเจ็ดพระองค์

ตำนานเจ้าเจ็ดพระองค์ กล่าวถึงความเป็นมาของทิพย์ช้าง และการสืบวงศ์ของทิพย์ช้าง ตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีเหตุการณ์บางช่วงที่กล่าวถึง วัดพระธาตุลำปางหลวงดังต่อไปนี้ คือ ในปี พ.ศ. 2271 ท้าวมหายศเจ้าเมืองลำพูนคุมทัพพม่ามารบทัพชาวนครที่ป่าตัน ทัพชาวนครพ่ายหนีเข้าไปตั้งรับ ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ทหารจากลำพูนติดตามมาและล้อมไว้ สมภารวัดนายางและพวกหนีออกมา ถูกทหารลำพูนฆ่าตาย ท้าวมหายศยึดเอาวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นค่ายทหาร ในระยะต่อมาสมภารวัดชมพู คิดกอบกู้บ้านเมืองโดยเลือกนายทิพพจักร(หนานทิพย์ช้าง) ผู้มีสติปัญญาฉลาดและมีความสามารถในการยิงปืนและธนู นายทิพพจักรขอกำลังคน 300 ล้อมวัดพระธาตุลำปางหลวงไว้ แล้วลอบเข้าไปยิงท้าวมหายศตาย ทัพลำพูนแตกพ่ายไป รายทิพพจักรได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าครองนครลำปาง วัดลำปางหลวงถูกกล่าวอีกครั้งในสมัยม่านโป่เจียก(เนเมียวสีหบดี) ยกทัพจากเมืองลาวมาพักทัพอยู่ที่ลำปางหลวง  และชุมนุมทัพเพื่อจะยกไปตีอยุธยา ซึ่งในพงศาวดารเมืองน่าน และราชวงศ์ปกรณ์ ความต้องกันกล่าวว่าใน จศ. 1125 (พ.ศ. 2306) ยกทัพจากหลวงพระบางเจ้าหลวงอริยวงศ์แห่งเมืองน่าน แต่งตั้งให้นายอ้าย คุมทัพน่านตามนายทหารพม่า ชุมทัพกันที่ตีนวัดหลวงพระบาง ขับ (เกณฑ์) กำลังในลานนาไทย 51 หัวเมืองอยู่ที่ลำปาง(ลำปางหลวง) กว่าครึ่งปียกทัพไปตีอโยธยา ในสมัยกรุงธนบุรี กองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรี พระยาจักรี และพระยาสุรสีห์ นำทัพหลวงมาตั้งที่ลำปาง(ตำบลลำปางหลวง) เพื่อไปตีเมืองเชียงใหม่ หลังจากตีเมืองเชียงใหม่ได้ในปี พ.ศ.2317 ก็ยกทัพกลับมาแวะพักที่บ้านลำปางหลวง นมัสการพระธาตุลำปางหลวง(ภาสกร  โทณะวณิก,2529)