จารึก

จารึกที่พบ 34 หลัก ส่วนใหญ่กล่าวถึงการบูรณะ และสร้างศาสนวัตถุ ศาสนสถาน ถวายวัดพระธาตุลำปางหลวง มีการจารึกชื่อ สิ่งของที่สร้างถวายหรือบูรณะ ปี พ.ศ. รวมถึงความปรารถนาของผู้สร้างหรือผู้บูรณะ วัตถุที่ใช้จารึก มีทั้งแผ่นหินทราย หินอ่อน พระพุทธรูปสำริดและหิน พระแผงไม้ พระบฏไม้ ระฆังทองสำริด แผ่นไม้ด้านหลังอาสนะ บนผนังด้านข้างพระวิหาร ซี่รั้วเหล็กเสาพระวิหาร แผ่นซีเมนต์ติดกับเสาตุง ตุงไม้ และแผ่นปูนปั้นสัตภัณฑ์ ภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นภาษาไทยวน มีไม่กี่หลักที่ใช้ร่วมกับภาษาบาลี อักษรที่ใช้ ส่วนใหญ่เป็นอักษรธรรมล้านนา มีบ้างที่ใช้อักษรฝักขาม หรือใช้อักษรทั้ง 2 ร่วมกัน ส่วนตัวเลขใช้ตัวเลขโหรา มีบางหลักใช้ตัวเลขธรรม น้อยหลักที่ใช้ตัวเลขไทยปัจจุบัน และมีเพียงจารึก พ.ศ.2516 หลักเดียว ที่จารึกเป็นภาษไทยปัจจุบัน มีเพียง 5 ชิ้นที่จารึกดวงชะตาไว้ซึ่งการจารึกดวงชะตาในสมัยโบราณ เป็นการบันทึกวันเวลา ในวันเฉลิมฉลองศาสนสถาน ศาสนวัตถุที่สร้างโดยยึดเอาการเคลื่อนที่ของดาวเป็นหลัก จารึกเหล่านี้ นอกจากใช้เป็นหลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ยังได้สะท้อน ให้เห็นความเชื่อทางพุทธศาสนาของผู้คนล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21-25 อย่างน้อย 2 เรื่องด้วยกัน คือ 1.ความเชื่อเรื่องพระพุทธศาสนา 5,000 ปี และอันตรธาน 5 2.ความเชื่อเรื่องพระศรีอาริยเมตไตรย และการปรารถนาพุทธภูมิ ความเชื่อทั้ง 2 นั้น ได้ส่งผลให้เกิดพิธีกัลปนาขึ้นมากมายในสังคมล้านนาช่วงเวลาดังกล่าว