กรกนก รัตนวราภรณ์กล่าวไว้ใน จักรวาลคติในการวางผังวัดหลวงล้านนา : สัญลักษณ์สะท้อนอำนาจรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ว่าการวางผังแบบจักวาลคติ คือ รูปแบบการวางอาคารศาสนสถาน ที่มีการจัดวางเรื่องทิศและตำแหน่ง สอดคล้องกับความเชื่อเรื่อง จักรวาลของแต่ละชุมชน แม้แต่ชุมชนที่นับถือผีบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติ ก็มีระบบจักรวาลในแบบของตนเอง การจำลองจักวาลให้เกิดขึ้นในชุมชนคือการสร้างศูนย์กลางของชุมชนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม พื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางจักรวาลจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้ประกอบพิธีกรรม และเป็นศูนย์รวมความเชื่อมั่นของคนในชุมชน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์กลางวัฒนธรรมที่เผยแพร่แนวคิดเรื่องจักรวาลในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-18 คือ อาณาจักรของชาวขอม เรียกชื่อว่าอาณาจักรกัมพูชา มีศูนย์กลางที่เมืองพระนคร ซึ่งประกอบด้วยบ้านเมืองรอบทะเลสาบใหญ่ ในประเทศกัมพูชา ความสำคัญของพื้นที่นี้ในฐานะเป็นศูนย์กลางของอำนาจ เริ่มชัดเจนในพุทธศตวรรษที่ 14 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ที่เป็นการเริ่มต้นขอมสมัยพระนคร ทรงรวบรวมเผ่าและผู้คน และทำพิธีราชาพิเษก ในพ.ศ.1345 ณ ยอดเขาพนมกุเลน ประกาศลัทธิเทวะ-ราชา หรือ เทพเจ้า-กษัตริย์(God-King)ซึ่งพัฒนาจากการเน้นนับถือ พระศิวะเป็นลัทธิการเคารพบูชากษัตริย์(ยอร์ช เซเดส์, 2535 : 102-103) สร้างพระราชอำนาจกษัตริย์ ให้เป็นเทพกษัตริย์เหนือคนต่างเผ่าต่างความเชื่อ ลัทธิเทวราชาผสมผสานกับการนับถือพระศิวะในศาสนาฮินดู ตลอดจนการนับถือบรรพบุรุษและลัทธิภูเขา ได้กลายเป็นลัทธิของบรรดากษัตริย์ขอมสืบต่อมา ลัทธิของเทวราชามุ่งสร้างกษัตริย์ให้เป็นเทวะผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดบนพื้นโลก พราหมณ์ประกอบพิธีความเป็นเทพเจ้ากษัตริย์และถือเป็นธรรมเนียมว่า ต้องสถาปนาศิวลึงค์อันศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตสาระแห่งความเป็นกษัตริย์ไว้บนที่สูงเช่น ศูนย์กลางเมือง ศูนย์กลางแผ่นดิน หรือบภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์แห่งจักรวาล นับแต่นั้นมากษัตริย์ขอมหลายพระองค์ ก็เสริมสร้างสถานภาพของเทพกษัตริย์ ตามลัทธิของเทวราชา ด้วยการประกอบพิธีบนเขา และสถาปนาศิงลึงค์สัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจ ตลอดจนการสร้างปราสาทรูปปิรามิดเปรียบประดุจเขาพระสุเมรุ อันเป็นแกรกลางแห่งจักรวาล(ธิดา สาระยา, 2539ก : 267-268) และอาณาจักรกัมพูชาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พุทธศาสนาลัทธิวัชรยาน ได้มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมขอมแทนที่ฮินดู ทำให้คติการสร้างศิวลึงค์ถูกเปลี่ยนเป็นพระพุทธรูป แต่ยังคงคติการสร้างปราสาทไว้กลางเมืองเป็นศูนย์กลางจักรวาลเช่นเดิม ขอมมีรูปแบบการปกครองที่ใช้ระบบจักรวาลเป็นหลักทั้งทางนามธรรมและรูปธรรม ทางนามธรรมนั้นเรียกว่า “คติเทวราชา” เป็นคติที่ชี้ให้เห็นว่า กษัตริย์ขอมใช้ความเชื่อทางศาสนา สนับสนุนการสร้างบารมีและสร้างความชอบธรรม ในการดำรงตำแหน่งผู้ปกครองสูงสุด ส่วนทางรูปธรรม เป็นการแสดงออกโดยการจัดวางโครงสร้างผังเมือง แสดงการรวมศูนย์อำนาจที่มีลักษณะเลียนแบบระบบจักรวาล ดังจะเห็นได้จาก ผังของเมืองพระนครและนครธม ซึ่งสะท้อนปรัชญาความเชื่อ ทางศาสนาที่อธิบายเกี่ยวกับโลกทั้งหมด มีปราสาทพระนครเป็นเครื่องหมายแทนเขาพระสุเมรุ ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม อยู่ในลักษณะสมดุลโดยใช้ทิศ 4 ทิศเป็นแกน กำแพงเมืองและคูเมืองเป็นสัญลักษณ์แทนทวีปและมหาสมุทรที่ล้อมรอบโลก คติเทวราชาและระบบผังเมืองเช่นนี้ แสดงความหมาย ให้ราชธานีเป็นมากกว่าศูนย์กลางทางการเมือง เพราะได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นศูนย์กลางอันศักดิ์สิทธิ์ของจักรวรรดิอีกด้วย(กรกนก รัตนวราภรณ์,2545:1-2)
กรกนก รัตนวราภรณ์ยังได้กล่าวไว้อีกว่า ผังพุทธาวาสวัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นผังที่มีรูปแบบมาตั้งแต่พุธศตวรรษที่ 21 ซึ่งแสดงถึงคติจักรวาลอย่างชัดเจน โดยมีองค์ประกอบของจะกรวาลครบและสมบูรณ์ ประกอบด้วยเขาพระสุเมรุคือองค์พระธาตุเจดีย์ วางอยู่ในแนวแกนเดียวกับวิหารหลวงซึ่งเป็น วิหารโถงหันหน้าทางทิศตะวันออก มีวิหารครบทุกทิศสำคัญ 4 ทิศ และมีวิหารทิศสำคัญคือ วิหารทิศใต้ ชื่อเดียวกับวิหารพระพุทธ ด้านทิศใต้ของวัดพระธาตุหริภุญชัย แสดงให้เห็นความสำคัญกับทิศใต้เช่นเดียวกับผังวัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่ ผังวัดพระธาตุลำปางหลวง มีความชัดเจนในการสร้างศูนย์กลางที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีโดยกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ เช่นการที่พระเจ้าติโลกราชเคยเสด็จมานมัสการพระธาตุลำปางหลวง เปรียบเสมือนมีพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ณ ศูนย์จักวาล เป็นการตอกย้ำถึงพระราชอำนาจของกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ต่อการปกครองเมืองลำปาง เป็นการใช้คติจักรวาลในการวางผังร่วมกับการปกครอง คติจักรวาลในการวางผังวัดหลวงล้านนาไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น แต่เกิดจากการสะสมแนวคิด โดยพัฒนาการชัดเจนในช่วงพระเจ้าติโลกราชถึงพญาแก้ว พบการบูรณะวัดหลวงสำคัญหลายแห่งให้ผังพุทธาวาสมีความเป็นผังแบบจักรวาลที่ชัดเจน รูปแบบการวางผังแบบจักรวาลคติของวัดหลวงล้านนาที่ครบสมบูรณ์ ตามแนวคิดทางพุทธศาสนาในช่วงเวลานั้น สันนิษฐานว่าจะเป็นรูปแบบดังต่อไปนี้ คือ มีองค์เจดียืเป็นศูนย์กลาง วิหาร 4 ทิศ วางตามแนวแกนที่สัมพันธ์กับองค์เจดีย์ โดยวิหารหลวงจะอยู่ด้านทิศตะวันออก เป็นอาคารหลักในการประกอบศาสนพิธี ในทิศเสริมตามทิศเฉียง 4 ทิศอาจจะพบเป็นตำแหน่งของวิหาร หอไตร หอระฆัง หอพระพุทธบาท ต้นไม้ บ่อน้ำ กุมภัณฑ์ โดยพื้นทั้งหมดเป็นทราย มีกำแพงรอบผังเรียกว่าศาลาบาตร ประตูทางเข้าออกมี 3 ด้าน โดยมีประตูโขงทางด้านทิศตะวันออก เขตสังฆาวาสมักจะพบอยู่บริเวณทิศใต้ของผังพุทธาวาส ตามแนวคิดของพุทธศาสนาลังกาวงศ์(กรกนก รัตนวราภรณ์,2545)