ลวดลายการประดับตกแต่งบนซุ้มประตูโขง

ลวดลายที่ใช้ในการประดับตกแต่งส่วนต่างๆ ของซุ้มประตูโขงนี้ มีลักษณะการจัดระเบียบ การจัดวางตำแหน่งต่างๆ ของลวดลายคล้ายกับมณฑปปราสาท  ลวดลายที่ใช้ประดับตามส่วนต่างๆ เป็นลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งจัดอยู่ในประเภทลายเครือเถา ลายพันธ์พฤกษานี้ได้เริ่มปรากฏอย่างจริงจังและมีหลักฐานยืนยันพิสูจน์ได้ตรงกันทั้งด้านเอกสารและรูปแบบทางศิลปกรรม ตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมา ลายประเภทนี้ได้ถูกนำไปใช้ในลักษณะลายปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรมส่วนต่างๆ ซึ่งจะพบได้ทั่วไปในเชียงใหม่และล้านนา(ภาสกร  โทณะวณิก,2529)

องค์ประกอบของซุ้มโขงแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนตัวอาคารและส่วนยอด  ลวดลายที่ใช้ประดับตัวอาคารย่อมุมมี 3 ส่วน คือ บัวคอเสื้อ ประจำยามอก และบัวเชิงล่าง ลายบัวคอเสื้อ และลายบัวเชิงล่าง เป็นลายพันธ์พฤกษาอยู่ในกรอบเส้นลวดหยักโค้ง อันเป็นลวดลายตกแต่งพื้นฐานของสถาปัตยกรรมล้านนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกว่า ลายเครือล้านนา ที่ได้รับอิทธิพลจากลวดลายบนเครื่องลายครามจีนแบบราชวงศ์หงวนและราชวงศ์หมิง(พรรณนิภา  ปิณฑวณิช,2546)