ประวัติศาสตร์ การศึกษาจากแหล่งข้อมูล หลักฐานทางประวัติศาสตร์จากตัวอักษรได้แก่ การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น คัมภีร์ใบลาน หนังสือกระดาษสาหรือพับหนังสา ตำนาน จารึก จดหมายเหตุ และวรรณกรรม เป็นต้น ซึ่งการทำวิจัยในครั้งนี้ หลักฐานเหล่านี้เป็นเพียงอดีตไปแล้ว เพราะ เป็นผลมาจากความสำเร็จจากการปฏิรูปการศึกษาในสมบูรณาญาสิทธิราชย์(รัชกาลที่ 5 – 7) ที่ให้ชาวล้านนาเรียนอักษรไทยกลางแทนอักษรธรรมล้านนา “ตัวเมือง” ในที่สุด “ตัวเมือง” เป็นภาษาที่ตายไปแล้วจากสังคมล้านนา(สรัสวดี อ๋องสกุล, 2544) เป็นการสูญเสียที่เกิดจากสยามประเทศปกครองแผ่นดินล้านนา อิทธิพลของอักษรไทยกลางจึงมีบทบาทเข้ามาแทนที่อักษรธรรมล้านนา
จากการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา แบ่งแนวทางการศึกษาเป็น 2 แนว
1. แนวจารีตท้องถิ่นหรือแนวตำนาน เป็นการบอกเล่าทางประวัติศาสตร์ที่สืบทอดกัน เป็นรุ่นสู่รุ่น จนเมื่อชาวล้านนาเดินทางไปยังศรีลังกา ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จึงได้รับอิทธิพลการเขียนประวัติศาสตร์จากสำนักสงฆ์ลังกา จึงได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างมีรูปแบบ โดยการเขียนอ้างถึงเรื่องราวของพระพุทธเจ้าของสถานที่นั้น ซึ่งเนื้อหาของตำนานแบ่งเป็นสองภาค ภาคแรกมีลักษณะประวัติศาสตร์สากล กล่าวถึง ประวัติพุทธศาสนา เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ตั้งปณิธานจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ต่อมาเกิดพระพุทธศาสนา ครั้นพระพุทธเจ้าปรินิพานแล้ว พุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศก และพุทธศาสนาได้เผยแผ่มาสู่ล้านนา ภาคที่สองเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น(สรัสวดี อ๋องสกุล, 2544) เช่น จังหวัดลำปาง ก็มีการเขียนในลักษณะดังกล่าว ได้แก่ ตำนานวัดพระธาตุลำปางหลวง และตำนานพระแก้วมรกต เป็นต้น
2. แนวประวัติศาสตร์ เป็นการรวบรวมข้อมูลงานวิชาการ ที่ได้อิทธิพลจากการศึกษาประวัติศาสตร์จากตะวันตก โดยพระยาประชากิจกรจักร( แช่ม บุนนาค) เป็นผู้ริเริ่มการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา การศึกษาแนวนี้ได้ถูกยอมรับจากนักวิชาการเป็นอย่างมาก การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาทั้ง 2 แนวทาง ส่งผลให้การยืนยันทางข้อมูลมรดกวัฒนธรรมแจ่มชัดขึ้น