ซุ้มโขงอยู่บริเวณประตูทางขึ้นด้านทิศตะวันออก ประตูซุ้มโขงอยู่บริเวณทางขึ้นด้านทิศตะวันออกเป็นประตูผ่านเข้าสู่ภายในเขตพุทธาวาส ที่ให้ความสำคัญมากว่าประตูทางเข้าส่วนอื่นเห็นได้จาก การประดับตกแต่งทั้ง สถาปัตยกรรม และประติมากรรม ซุ้มโขงแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนฐาน ส่วนอาคาร และส่วนยอด( พรรณนิภา ปิณฑวณิช, 2546)
ซุ้มประตูโขง เป็นสถาปัตยกรรม ที่ทำหน้าที่เป็นซุ้มประตู กำแพงทางเข้าของวัด ลักษณะของซุ้มประตูโขง มีรูปแบบเช่นเดียวกับปราสาท มีการประดับตกแต่ง ด้วยลวดลายปูนปั้นตามส่วนต่างๆ ลักษณะสำคัญของซุ้มประตูโขง คือเป็นมณฑปทรวดทรงเป็นปราสาทเครื่องยอด ลดทีละชั้น ผนังด้านข้างซุ้มช่วงที่ต่อกับกำแพง ส่วนบนเป็นซุ้มโค้งประดับด้วยนาคที่มุมทั้งสองข้าง ปลายหางขมวดยอด กระหวัดรัดเป็นเกลียวสู่เบื้องบน ส่วนซุ้มโค้งข้างบนของทางเข้าแบ่งเป็นสองส่วน คือซุ้มโค้งส่วนหน้าและส่วนหลัง ลวดลายปูนปั้นที่ประดับซุ้มส่วนหน้า
ทำเป็นลายพันธ์พฤกษาโค้งไปตามแนวของซุ้ม ด้านบนของซุ้มโค้งส่วนหน้า ทำเป็นรูปหงส์ ยืนเรียงรายกันเป็นแถว ส่วนมุมของซุ้มส่วนหน้า ทั้งสองข้างทำเป็นรูปกินนร และกินรียืนข้างละตัว ปลายซุ้มเป็นรูปตัวเหงา ซุ้มโค้งส่วนหลัง ที่มุมซุ้มทำเป็นรูปมกรคายนาคห้าเศียร หางนาคพันเกี่ยวกันเป็นมุมแหลมอยู่ที่ส่วนยอดกึ่งกลางซุ้ม ทอดลำตัวตามแนวความโค้งของซุ้ม แนวหลังของตัวนาคทำเป็นครีบ แบบใบระกา เรียงลดหลั่นเป็นแถว โครงสร้างส่วนล่าง ทำเป็นย่อเก็จที่มุม และมีเสาประกอบรองรับส่วนซุ้ม มีการประดับตกแต่งลวดลาย ส่วนที่ย่อมุม ซึ่งประกอบด้วยมุมเหลี่ยมหลายมุม ลวดลายประดับเสาซุ้ม และมุมเหลี่ยมเหล่านี้แบ่งเป็นสามส่วน ส่วนบนเรียกว่า ลายบัวคอเสื้อ
ส่วนล่างเรียกบัวเชิงล่าง และส่วนกลางเรียกประจำยามอก ลักษณะลวดลาย เช่นเดียวกับมณฑปปราสาท คือเป็นลายพันธ์พฤกษา มาบรรจุภายในกรอบ ที่มีเส้นลวดบังคับอยู่รอบนอก กรอบนอกเป็นเส้นหยักและคดโค้ง ลายบัวคอเสื้อและบัวเชิงล่าง จะหุ้มอยู่ที่มุมตอนบน และร่างของเสาซุ้ม หรือส่วนมุมโครงสร้างเป็นรูปกลีบบัวหรือสามเหลี่ยม ส่วนลายประจำยามอก โครงสร้าง เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ในลักษณะที่พับงอหุ้ม ส่วนกลางของเสาซุ้ม ส่วนหลังคาของซุ้มโขงแต่ละชั้น จะลดขั้นขึ้นไปที่ละขั้น ทุกมุมประดับด้วยนาค ทุกย่อมุมทั้งสี่ทิศ ส่วนยอดเป็นรูปดอกบัวตูม(ภาสกร โทณะวณิก, 2529)