ลวดลายคันทวยวิหารหลวง

นาคทัณฑ์หรือคันทวย หรือหูช้าง เป็นส่วนที่รับน้ำหนักเต้าและแปปลายเต้า ที่ยื่นออกมาจากเสาระเบียง หรือผนัง นาคทัณฑ์วิหารหลวง มีลักษณะเป็นไม้แกะสลัก มีโครงสร้างองค์ประกอบลาย เหมือนกันทุกชิ้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่าง ลักษณะของส่วนบนจะเป็นลายหน้ากระดาน 2-3 แถว ถ้าเป็นลายแบบ 3 แถว จะอยู่ในรูปของลายหน้ากระดานบน บัวหงาย และหน้ากระดานล่าง ลายที่ใช้เป็นลายประเภทลายดอกซีกดอกซ้อน ลายกลีบบัวแบบล้านนา

และลายกระหนกก้านขดที่มีการออกลายเป็นอิสระ ส่วนกลางประกอบด้วยลายสำคัญ คือ ลายพญาลวง หรือตัวลวง หรือที่เรียกว่าเล้งในศิลปะจีน ส่วนล่างประกอบด้วยลายหน้ากระดาน 2-3 แถว อยู่ในรูปของหน้ากระดานบน บัวหงาย และหน้ากระดานล่าง ต่อด้วยลายส่วนปลายสุด เป็นลายในทรงสามเหลี่ยม แกะเป็นลายกระหนกหัวม้วนโค้ง ในลักษณะลายก้านขด ประดับด้วยลายซีกกูก เป็นจังหวะคล้ายลายใบไม้(พรรณนิภา  ปิณฑวณิช,2546)